ท่าเรือแหลมฉบัง ซ้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้รับสารเคมี หมดสติ แล้วพลัดตกเรือ

   ณ ห้องแตรทอง 1 ศูนย์สวัสดิการท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี  เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธาน มอนิเตอร์ ศูนย์บัญชาการ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัย ท่าเรือแหลมฉบัง ครั้งที่  1 ประจำปี 2568 โดยมีนาวาตรี นนท์เผ่าพงธ์ คูณสวัตถิกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองบริการ  พร้อมด้วย ผู้บริหาร พนักงานท่าเรือแหลมฉบัง และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่ อำเภอศรีราชา สำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจน้ำ การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 2 จังหวัดชลบุรี เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เทศบาลตำบลบางละมุง องค์การบริหารส่วนตำบลบางพระ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ หน่วยงานราชการ โรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตอำเภอศรีราชา เข้าร่วมพิธีเปิด

 
เรือโทยุทธนา  กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ในฐานะท่าเรือหลักของประเทศ หากเกิดเหตุการณ์อันแสดงถึงความไม่ปลอดภัยในการใช้ท่าเรือแห่งนี้ ก็จะส่งผล กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ท่าเรือแหลมฉบังจึงได้จัดให้มีการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของเรือและท่าเรือตามหลักสากล ที่เรียกว่า "International Ship and Port facility Security Code หรือ ISPS Code" โดยกำหนดให้มีการฝึกอบรมและฝึกซ้อมการ รักษาความปลอดภัยท่าเรือเป็นประจำทุกปี โดยครั้งนี้ได้จำลองสถานการณ์ว่ามี คนตก จากเรือสำราญ  ซึ่งได้รับสารเคมี แล้วหมดสติ แล้วพลัดตกเรือ 
 
การฝึกซ้อมในครั้งนี้ มีหน่วยงานจากหลายหน่วยงานและหลายองค์กร โดยจะเป็นการสร้างความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยระหว่างหน่วยงาน หากเมื่อเกิดสถานการณ์จริงขึ้นมา ก็สามารถประสานงานด้วยดี ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  สำหรับปัญหาอุปสรรคในครั้งนี้  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการติดต่อสื่อสาร ในเรื่องของขบวนการและหน้าที่ของแต่ละคน ดังนั้นจะต้องมีการติดต่อประสานงานกันตลอดเวลา เพราะทุกๆฝ่ายก็พยายามจะเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น แต่การช่วยเหลือต้องมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในทุกๆฝ่าย ซึ่งการประสานงานเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ
 
“หลังจากฝึกซ้อมเป็นที่เรียบร้อยนี้ จะต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมด มาสรุปเพื่อถอดเป็นบทเรียนว่าจุดไหนติดขัด ดังนั้นการฝึกซ้อมเป็นสิ่งสำคัญมากหากไม่ได้รับการฝึก จะไม่เข้าใจสถานการณ์จริงและการปฎิบัติจริง จะกลายเป็นอุปสรรคมากกว่าจะทำให้สถานการณ์ลุล่วง” เรือโทยุทธนา  กล่าว

สำหรับการฝึกในปีนี้ มีการกำหนดการฝึกซ้อมฯ ทั้งหมด 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 3-7  มีนาคม 2567  และครั้งที่ 2 ช่วงเดือนสิงหาคม 2568 โดย จะมีการฝึกปฏิบัติ รวมทั้ง การตอบโต้ในสภาวะฉุกเฉิน และทบทวนความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ทุกส่วนงานมีความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ ของแต่ละส่วนงาน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น แต่ละส่วนงานสามารถปฏิบัติการได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยอีกด้วย




 

Copyright (c) 2021 Thaitv24.com All Right Reseved

Copyright © Thaitv24.com | ไทยทีวี 24 Designed by Joelumnamping